วันเสาร์ที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐

การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เรื่องของภาษี เป็นสิ่งที่หลายๆคนไม่รู้ และมักคิดว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวมากๆ เพราะคิดว่าคนที่จะต้องมายุ่งเกี่ยวก็คงจะมีเฉพาะพวกที่มีเงินเยอะๆ ต้องเสียภาษีมากๆเท่านั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะจริงๆแล้วเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ

คนส่วนใหญ่ของสังคมก็คือชนชั้นกลางที่ทำงานกินเงินเดือน ซึ่งคนกลุ่มนี้ถูกหักภาษีไปก่อนที่จะได้รับเงินเดือนด้วยซ้ำไป และที่สำคัญผมเคยถามเพื่อนๆหลายคนว่า รู้มั้ยว่าตัวเองต้องเสียภาษีปีละเท่าไหร่ เสียไหนอัตราไหน เกือบละร้อยทั้งร้อยตอบว่าไม่รู้ ก็ฝ่ายบุคคลเข้ายื่นภาษีให้หมดแล้วนี่ ชั้นไม่อยากรู้หรอก ยุ่งยากเปล่าๆ แล้วแกจะรู้ไปทำไม

ก็จริงของเค้าครับ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผมควรจะรู้เรื่องภาษีของเค้าไปทำไม ถ้าตัวเค้าเองยังไม่รู้สึกอยากรู้ ไม่รู้สึกว่ามันมีประโยชน์ต่อตัวเค้าเอง ผมก็เลยไม่คุยต่อ เพราะรู้สึกว่าเสียเวลาถ้าต้องมานั่งเริ่มต้นปรับกรอบความคิดกันตั้งแต่ต้น เอาไว้เค้าอยากรู้เมื่อไหร่ แล้วเข้ามาถาม เราค่อยเล่าให้เค้าฟังมันจะเหนื่อยน้อยกว่ากันเยอะเลย

แต่สำหรับคนที่สนใจและคิดว่าเป็นประโยชน์ ผมก็อยากให้ลองศึกษาหาควารู้เพิ่มเติมนะครับ ที่ผมจะเอามาฝากในวันนี้ก็จะเป็นส่วนเล็กๆที่ผมได้จากการเข้าไปอบรมสัมมนาหลายๆที่นะครับ แล้วถ้ามีอะไรน่าสนใจเพิ่มเติมก็จะเอามาฝากกันอีกทีครับ

ข้อมูลส่วนนี้ได้มาจาก หลักสูตรสัมมนาของ TSI นะครับ


1. การฝากเงิน (ออมทรัพย์)
- ดอกเบี้ยจากการฝากออมทรัพย์ใน ธ.พาณิชย์จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แต่มีสิทธิเลือกไม่นำมารวมคำนวณสิ้นปีได้ แต่ถ้าดอกเบี้ยรวมไม่เกิน 20,000 บาทก็จะได้รับการยกเว้นภาษี

- ดอกเบี้ยจากการฝากเผื่อเรียกไว้กับ ธ.ออมสิน หรือสลากออมสิน ได้รับการยกเว้นภาษี

- ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์ได้รับการยกเว้นภาษี

- ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จาก ธกส.ได้รับการยกเว้นภาษี



2.การฝากเงิน (ประจำ)
- ดอกเบี้ยเงินฝาก ธ.ออมสินหรือ ธ.พาณิชย์ (ระยะตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป)จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แต่มีสิทธิเลือกไม่นำมารวมคำนวณตอนสิ้นปีได้
(แต่จะได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ โดยเมื่อรวมดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทแล้วต้องมีจำนวนไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี )

- ดอกเบี้ยจากการฝากออมทรัพย์แบบพิเศษที่มีเงื่อนไขให้ฝากเป็นรายเดือน จำนวนยอดฝากเท่ากันทุกเดือน คราวละไม่เกิน 25,000 บาท เป็น
ระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 24 เดือนจะได้รับการยกเว้นภาษี (เงินฝากประเภทนี้ต้องลองสอบถามกับแต่ละธนาคารดู)



จะเห็นได้ว่าแค่เรื่องของประเภทเงินฝาก ถ้าเรามีความรู้เรื่องของภาษีที่เกี่ยวข้อง เราก็อาจจะสามารถเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้กับตัวเองได้มากขึ้นแล้ว และถ้าเรามีความรู้เรื่องของประเภทรายได้ และการสร้างหน่วยภาษีขึ้นมาใหม่ด้วยเเล้ว เงินฝากบางประเภทที่เคยเสียภาษีในอัตรา 15% เราก็อาจจะได้คืนกลับมาบางส่วนหรือทั้งหมดเลยก็เป็นได้ครับ แล้วครั้งต่อไปจะมาเล่าเรื่องการวางแผนภาษีในด้านอื่นๆต่อไป


วันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

วิทยากรอาสา

หลังจากที่ผมได้รับคัดเลือกให้เป็นวิทยากรอาสารุ่นที่ 5 ของสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ TSI ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษา 50 ก็เพิ่งมีวันนี้ที่พอมีเวลาได้เข้าร่วมในการติวเข้มสำหรับวิทยากรรุ่นใหม่อย่างผม จริงๆแล้วเค้ามีจัดกันไปครั้งนึงแล้วตอยปลายเดือนเมษา แต่พอดีตอนนั้นผมติดงานอื่นอยู่ก่อนแล้ว เลยไม่ได้เข้าร่วมด้วย

การเข้าไปนั่งฟังวิทยากรรุ่นพี่เค้าสอนในครั้งนี้มันมีความต่างจากตอนที่เราเข้าไปฟังในฐานะผู้เข้าสัมมนาคนนึงมาก เพราะตอนที่เราเป็นผู้เข้าสัมมนา เราจะโฟกัสเฉพาะแต่ตัวเนื้อหาว่ามันมีอะไรน่าสนใจ อะไรที่เรายังไม่รู้ อะไรที่เราอยากรู้เพิ่มเติม และเราจะเอาความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ยังไงได้บ้าง แต่มาวันนี้เราฟังเรื่องเดียวกัน หลักสูตรเดียวกันในมุมที่ต่างไป วันนี้เราต้องเรียนในมุมที่ว่า เนื้อหาตามสไลด์พรีเซนเตชั่นอันนึง มันจะมีวิธีการนำเสนอยังไงให้มันน่าสนใจ แล้วถ้าผู้ฟังที่มีพื้นฐานแตกต่างกัน เราจะสื่อยังไงให้โดนใจ กว่าจะมาเป็นสไลด์นึงๆ กว่าจะมาเป็นการบรรยายเวลาแค่ 15 นาที ผู้บรรยายต้องเตรียมตัวอะไรมากน้อยแค่ไหน สมัยก่อนไม่เคยได้สนใจเรื่องเล่านี้เลย วันนี้ต้องมาเรียนด้วยมุมมองใหม่

จริงตอนที่อยู่ในช่วงอบรมหลักสูตร Train the Trainer ก็มีเรียนไปบ้างเเล้วว่าต้องเตรียมตัวยังไง แต่เพิ่งมีคราวนี้ที่ได้ปรับมุมการเรียนรู้ใหม่ จากนี้ของต้องจัดเวลาไปเข้าร่วมฟังบรรยายในหลักสูตรต่างๆ ของ TSI ที่วิทยากรรุ่นพี่เค้าบรรยายอยู่ หลักสูตรที่เราเคยเข้าไปแล้วแหละ แต่เข้าไปด้วยการเรียนรู้เรื่องในมุมใหม่ เรียนรู้การที่เราจะต้องไปเข้าร่วมหลักสูตรนั้นอีกครั้ง แต่ในฐานะของวิทยากรบนเวที ไม่ใช่ในฐานะของผู้ฟัง

สำหรับมุมมองส่วนตัวผมต่อระบบวิทยากรอาสานี้ ผมว่าเป็นระบบที่น่าสนใจมาเพราะตัว TSI เองก็สามารถเพิ่มจำนวนวิทยากรเพื่อที่จะขยายจำนวนนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุนในประเทศเราได้จำนวนมหาศาล โดยไม่ติดข้อจำกัดในเรื่องของบุคคลากร ซึ่งถ้าใช้วิทยากรที่เป็นพนักงานประจำ การเพิ่มจำนวนระดับนี้คงต้องมีความไม่คล่องตัวเรื่องการบริหารบุคคลากรแน่นอน

แต่เมื่อใช้ระบบคัดเลือกวิทยากรอาสา ก็สามารถสกรีนคัดเอาคนที่มีความรู้ความสามารถตรงตามที่ต้องการได้ และแถมทุกคนที่เข้ามานี้ก็มีใจที่พร้อมจะเสียสละทำงานตรงนี้อยู่แล้ว ที่เหลือทาง TSI ก็แค่ดูแลรับผิดชอบระบบสนับสนุนต่างๆให้แก่วิทยากรเท่านั้น ทีมวิทยากรเองก็อยู่กันอย่างพี่น้องเพราะไม่มีเรื่องผลประโยชน์ว่าใครจะเติบโตกว่าใคร พี่ๆก็ยินดีช่วยเหลือวิทยากรรุ่นน้อง

สำหรับผมแล้ว ระบบนี้ก็ตอบโจทย์ส่วนตัวของผมเองที่ว่าอยากเป็นฟันเฟืองตัวนึงที่ช่วยผลักดันให้คนไทยมีความฉลาดทางการเงินมากขึ้น ซึ่งถ้าให้ผมต้องสมัครเข้าไปเป็นพนักงานของ TSI หรือของตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ได้ทำงานตรงนี้แล้วละก้อ บอกได้ว่าผมคงไม่เอาหรอกครับ การเดินกลับไปใช้ชีวิต Employee มันไม่อยู่ในหัวของผมเลยแม้แต่น้อย แต่ถ้าลักษณะงานเป็นอย่างนี้ละก้อ ถึงไหนถึงกันครับ